จาก กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พ.ศ. ๒๕๕๒ และ ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พ.ศ. ๒๕๕๒ กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ บุคคลหรือนิติบุคคล (ผู้ตรวจสอบพลังงาน) ที่อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานอนุญาต มีหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบและรับรอง (Certification Audit) ตามที่กำหนด
สำนักกำกับและอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จึงจัดทำคู่มือการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานสำหรับผู้ตรวจสอบพลังงาน ฉบับนี้ ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวปฏิบัติต่อไป โดยคู่มือมีส่วนประกอบดังนี้
· เกณฑ์การตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน
· ขั้นตอนการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน
· ภาคผนวก ก ตัวอย่างแบบฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน
· ภาคผนวก ข กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน
หวังว่าผู้อ่านจะได้รับประโยชน์จากคู่มือนี้ครับ โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องจากอาคารควบคุมและโรงงานควบคุม ที่ต้องปฏิบัติตามกฏหมายฉบับนี้
คำนำ
การตรวจสอบและรับรองและการตรวจประเมินระบบการจัดการพลังงาน หรือที่เรียกว่า Energy Management System Auditเป็นเครื่องมือเพื่อยืนยันว่าองค์กรที่ถูกตรวจประเมิน (Audit) มีการจัดการและการปฏิบัติด้านพลังงานที่เหมาะสม เพียงพอที่จะนำไปสู่เป้าหมายด้านพลังงานที่กำหนดไว้ อีกทั้งหากนำการตรวจประเมินที่เป็นระบบมาใช้อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยปรับปรุงผลการดำเนินงาน (Performance) ด้านพลังงานขององค์กรโดยชี้ให้เห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของระบบการจัดการพลังงานสามารถนำไปสู่การขยายผลและการปรับปรุงที่เหมาะสมต่อไป การตรวจประเมินมีด้วยกัน 3 ประเภท ได้แก่
· การตรวจประเมินภายใน (Internal Audit)หรือบางครั้งเรียกว่า First Party Auditเป็นการตรวจประเมินโดยบุคลากรภายในขององค์กร ในบางครั้งอาจให้บุคลากรจากหน่วยงานภายนอกมาตรวจประเมินแต่เป็นการดำเนินงานในนามขององค์กร
· การตรวจประเมินโดยคู่ค้า (Supplier Audit)หรือบางครั้งเรียกว่า Second Party Audit เป็นการตรวจประเมินโดยบุคลากรของคู่ค้าที่มีผลประโยชน์ร่วมกับองค์กรที่ถูกตรวจ
· การตรวจสอบและรับรอง (Certification Audit)หรือบางครั้งเรียกว่า Third Party Auditเป็นการตรวจประเมินโดยบุคลากรของหน่วยงานอิสระ เป็นการเปรียบเทียบลักษณะที่ปรากฏของระบบการจัดการกับเกณฑ์ที่กำหนด หากพบว่าลักษณะดังกล่าวเป็นไปตามเกณฑ์ก็จะมีการรับรอง (Certify)เพื่อเป็นหลักฐานยืนยัน
กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พ.ศ. ๒๕๕๒ และ ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พ.ศ. ๒๕๕๒ กำหนดให้มีทั้งการตรวจประเมินภายใน (Internal Audit)และการตรวจสอบและรับรอง (Certification Audit) โดยในส่วนของการตรวจสอบและรับรองนั้นระบุให้ “เจ้าของโรงงานควบคุมและเจ้าของอาคารควบคุมจัดให้มีการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมโดยผู้ตรวจสอบและรับรอง” โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ บุคคลหรือนิติบุคคลที่อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานอนุญาต มีหน้าที่ดำเนินการตามที่กำหนด
กฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาตและการอนุญาตตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน พ.ศ. ๒๕๕๕ กำหนดให้มีผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน ๒ ระดับ ได้แก่ ระดับผู้ชำนาญการและระดับผู้ช่วยผู้ชำนาญการ โดยบุคคลหรือนิติบุคคลที่ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานไม่ว่าระดับใดจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อ ๓ ของกฎกระทรวงฯ ซึ่งหนึ่งในคุณสมบัติ[ข้อ ๓ (๑) ค]กำหนดให้ผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรด้านการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด
คู่มือการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานสำหรับผู้ตรวจสอบพลังงานฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานหรือผู้ที่มีหน้าที่ตรวจติดตามและประเมินการจัดการพลังงานตามข้อกำหนดของระบบการจัดการพลังงาน ใช้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับการตรวจสอบการจัดการพลังงานของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม รวมถึงการให้การรับรองผลการตรวจสอบดังกล่าวแก่โรงงานและอาคารควบคุมต่อไป
บทที่ ๑
เกณฑ์การตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน
การตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน เป็นการตรวจสอบว่าระบบการจัดการพลังงานของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายหรือไม่ โดยในกระบวนการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน มีคำสำคัญที่ใช้และคำจำกัดความ ดังต่อไปนี้
จากคำนิยามของ “เกณฑ์การตรวจประเมิน” จะเห็นได้ว่าการตรวจสอบและรับรองมีเกณฑ์ที่ต้องใช้อยู่ 2 ประเภท ได้แก่
● ประเภทที่ ๑ เกณฑ์ที่กำหนดโดยกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัด
การพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พ.ศ. ๒๕๕๒ และประกาศกระทรวงพลังงาน
เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม
พ.ศ. ๒๕๕๒ ระบบการจัดการพลังงานของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม “ทุกแห่ง” จะต้องดำเนินการตามเกณฑ์นี้ ตารางในภาคผนวก ก-๓ แสดงรายการตรวจสอบการจัดการพลังงานในการดำเนินงานตามเกณฑ์นี้ โดยเป็นหน้าที่ของผู้ช่วยผู้ชำนาญการที่จะนำรายการตรวจดังกล่าวตรวจสอบรายงานการจัดการพลังงานที่ได้รับจากโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม
● ประเภทที่ ๒ เกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม ได้แก่ นโยบาย ขั้นตอนการทำงาน วัตถุประสงค์ และเป้าหมาย เป็นต้น เกณฑ์ประเภทนี้จะแตกต่างกันไประหว่างโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม ไม่มีโรงงานควบคุมหรืออาคารควบคุมที่จะมีเกณฑ์นี้เหมือนกันในทุกๆ ประเด็น ในการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานตามเกณฑ์ประเภทนี้
ผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน จะต้องศึกษา วิเคราะห์ เอกสารที่เกี่ยวข้องของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่จะตรวจสอบและรับรองก่อนเริ่มดำเนินการเพื่อให้เข้าใจระบบการจัดการพลังงาน
ตัวอย่างเช่นจากรายงานการจัดการพลังงานของโรงงานควบคุมแห่งหนึ่ง ผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน สามารถสร้างEnergy Use Diagramได้ตามที่แสดงในรูป ซึ่งสามารถสรุปในเบื้องต้นได้ว่า
โรงงานแห่งนี้มีกระบวนการเผาไหม้เพื่อผลิตไอน้ำซึ่งคาดว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่มีนัยสำคัญสูง ดังนั้น ผู้ตรวจสอบและรับรอง ควรจัดเตรียมเกณฑ์ที่จะตรวจสอบการใช้งานหม้อไอน้ำ เช่น ตรวจการควบคุมปริมาณออกซิเจนส่วนเกิน (Excess Oxygen)เป็นต้น ผู้ตรวจสอบและรับรอง สามารถพิจารณาตามเกณฑ์ ดังนี้
● พบว่าไม่มี procedure กำหนดแนวทางในการควบคุมการทำงาน ผู้ตรวจสอบและรับรอง พิจารณาให้เป็น “ข้อคิดเห็นปรับปรุง (Observation)”
● พบว่ามี procedure กำหนดว่าต้องควบคุม และพบหลักฐานว่ามีการควบคุม แต่มีค่าบางค่าสูงกว่าที่กำหนด ผู้ตรวจสอบและรับรอง พิจารณาให้เป็น “ข้อคิดเห็นการปรับปรุง (Observation)”
● พบว่ามี procedure กำหนดว่าต้องควบคุม แต่ไม่พบหลักฐานว่ามีการควบคุม ผู้ตรวจสอบและรับรอง ต้องพิจารณาต่อว่า เป็นความไม่สอดคล้องแบบร้ายแรง (Major) หรือไม่ร้ายแรง (Minor)โรงงานแห่งนี้มีการใช้อากาศอัด ดังนั้นผู้ตรวจสอบและรับรองควรจัดเตรียมที่จะขอดูเอกสารเกี่ยวกับการทดสอบปริมาณอากาศอัดที่รั่ว(Compressed Air Leak) ผู้ตรวจสอบและรับรอง สามารถพิจารณาตามเกณฑ์ ดังนี้
● พบว่าไม่มี procedure กำหนดให้มีการทดสอบและกำหนดแนวทางการทดสอบผู้ตรวจสอบและรับรอง พิจารณาให้เป็น “ข้อคิดเห็นการปรับปรุง (Observation)”
● พบว่ามี procedure กำหนดว่าต้องมีการทดสอบ อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง แต่พบว่าหลักฐานมีการดำเนินการครั้งสุดท้ายเมื่อ
๒ ปีที่แล้ว ผู้ตรวจสอบและรับรอง ต้องพิจารณาต่อว่า เป็นความไม่สอดคล้องแบบร้ายแรง (Major) หรือไม่ร้ายแรง (Minor)
● พบว่ามี procedure กำหนดว่าต้องมีการทดสอบ อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง แต่ไม่พบหลักฐานการดำเนินการตามที่กำหนด
ผู้ตรวจสอบและรับรอง ต้องพิจารณาต่อว่า เป็นความไม่สอดคล้องแบบร้ายแรง (Major) หรือไม่ร้ายแรง (Minor) ผู้ตรวจสอบ
และรับรองการจัดการพลังงาน ต้องจัดเตรียมรายการตรวจ (Checklist) ประเภทนี้ก่อนลงพื้นที่ และต้องจัดทำขึ้นหลังจากได้
ขอข้อมูลที่จำเป็นจากโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม ไม่มี Checklistขององค์กรใดที่เหมือนกันทั้งหมด จึงเป็นการยากที่
จะจัดเตรียมChecklistที่สามารถนำไปใช้ล่วงหน้า ต่างจากรายการตรวจสอบตามข้อกำหนดประเภทที่ ๑
ฉบับหน้ามาติดตามต่อใน บทที่ ๒ ขั้นตอนการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน ครับ
เอกสารอ้างอิง
คู่มือการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานสำหรับผู้ตรวจสอบพลังงาน
สำนักกำกับและอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
พฤษภาคม ๒๕๕๖ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ ๓
|